โควิดยังไม่จบ ฝุ่นก็กำลังจะกลับมา! ฝุ่น PM2.5 มหันตภัยจิ๋วที่เราไม่ควรลืม

2930 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เมืองในหมอกฝุ่น

หลังจากที่โควิดเข้ามาสร้างความปั่นป่วนให้ชาวโลกหลายเดือน เรื่องฝุ่นก็คงจะเลือนไปจากใจของหลายคน แต่ฤดูหนาวกำลังจะมาถึง และฤดูหนาวในไทยหลายปีที่ผ่านมาก็เต็มไปด้วยฝุ่น PM2.5 เมื่อหลายคนออกไปข้างนอก ก็จะเห็นท้องฟ้าที่ขมุกขมัวเพราะหมอกฝุ่น เมื่อเปิดดูข่าว ก็จะเห็นเมืองใหญ่ในไทย เช่น กรุงเทพมหานคร และเชียงใหม่ ได้ตำแหน่งเมืองมลพิษเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

แม้ว่าปี 2563 จะเป็นปีแห่งโรคระบาด แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงปลายปีแล้ว มหันตภัยหมอกฝุ่น PM2.5 ก็คงจะกำลังกลับมาเหมือนกัน เพราะอย่างนั้น ทีมงาน CKKEQUIPMED จึงขอสรุปเรื่องฝุ่นจิ๋วที่ว่าและชวนทุกคนมาคุยเรื่องฝุ่นกันอีกครั้ง

มหันตภัยฝุ่น PM2.5? ฝุ่นเล็กขนาดนี้เป็นมหันตภัยได้ด้วยเหรอ

มีการออกข่าวมาตลอดว่าฝุ่นจิ๋ว PM2.5 อันตราย และที่อันตรายก็เพราะมีขนาดจิ๋วนั่นเอง ด้วยขนาดที่ไม่เกิน 2.5 ไมครอน ฝุ่น PM2.5 จึงสามารถผ่านการคัดกรองของขนจมูก และเข้าไปในระบบทางเดินหายใจและกระแสเลือดของมนุษย์ แล้วก็ยังอาจพาสารอันตราย เช่น โลหะหนัก ติดตัวเข้าไปด้วย

จึงไม่แปลกที่การสูดฝุ่น PM2.5 เข้าร่างกายในปริมาณเกินมาตรฐานจึงเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคต่างๆ เช่น ทำให้ติดเชื้อไวรัสได้ง่ายและรุนแรงขึ้น ทำให้ระบบหัวใจและหลอดเลือดมีปัญหา หรือนำไปสู่โรคมะเร็ง ฝุ่น PM2.5 จึงส่งผลกระทบกับสุขภาพของชาวไทยอย่างมาก

แล้วถ้าอย่างนั้น ทำไมเราต้องมาเจอฝุ่น PM2.5 ฝุ่นจิ๋วพวกนี้มาจากไหน?

โดยทั่วไปมีการแบ่งแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ว่ามาจากธรรมชาติ หรือจากกิจกรรมของมนุษย์ แต่กรมควบคุมมลพิษรายงานว่าฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมาจาก 3 สาเหตุหลัก ก็คือ

  1. การเผาไหม้จากเครื่องยนต์ โดยเฉพาะเครื่องยนต์ดีเซล
  2. การเผาในที่โล่ง เช่น การเผาชีวมวลในพื้นที่เกษตร การเผาขยะมูลฝอย
  3. ฝุ่นทุติยภูมิ หรือฝุ่นที่ไม่ได้ปล่อยมาจากแหล่งกำเนิดโดยตรง แต่เกิดจากปฏิกิริยาเคมีในชั้นบรรยากาศ

(ไฟป่าก็เป็นแหล่งที่มาหนึ่งของฝุ่น PM2.5 เช่นกัน ขอบคุณภาพจาก skeeze จาก Pixabay)

นอกจากนี้ยังมีการรายงานถึงแหล่งที่มาของฝุ่น PM2.5 ในประเทศไทยแหล่งอื่นๆ เช่น ฝุ่นจากไฟป่า ฝุ่นที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมและโรงงานไฟฟ้าที่เผาไหม้เชื้อเพลิงที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะโรงงานไฟฟ้าถ่านหิน หรือฝุ่นละอองจากถนนและการก่อสร้าง (แต่ฝุ่นจำพวกหลังนี้ร้อยละ 90 ไม่ใช่ PM2.5 เพราะมีขนาดเกิน 2.5 ไมครอน ตามข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ)

ทำไมฝุ่น PM2.5 ถึงมาช่วงปลายปีและต้นปี

เพราะช่วงปลายปีและต้นปีมักมีอากาศแห้งและไม่มีฝน จึงเกิดไฟป่าบ่อยครั้ง นอกจากนั้นก็มีการเผาพื้นที่เกษตรในช่วงนี้เป็นประจำทั้งในประเทศไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้เกิดฝุ่น PM2.5 จำนวนมาก ฝุ่นเหล่านี้สามารถลอยในอากาศนานได้ถึงหลายสัปดาห์ และอาจปลิวไปไกลจากแหล่งกำเนิดได้ถึงพันกิโกเมตร พื้นที่รอบข้างจึงต้องได้รับผลกระทบอย่างเลี่ยงไม่ได้ และมีงานวิจัยบางชิ้นที่อธิบายว่า ฝุ่น PM2.5 ส่วนใหญ่ในกรุงเทพมหานครมาจากการเผาพื้นที่เกษตรที่อาจอยู่ไกลออกไปถึง 240 กิโลเมตร


 

(ย้อนรอยข่าวไฟป่าที่เชียงใหม่เมื่อต้นปี ที่ทำให้เกิดฝุ่น PM2.5 จำนวนมาก)

อีกเหตุผลหนึ่งคือ ฤดูหนาวมักจะเกิดปรากฏการณ์อุณหภูมิผกผัน (temperature inversion) ถ้าจะสรุปให้สั้นก็คือ โดยปกติแล้ว แสงแดดจะส่องพื้นโลกในช่วงกลางวัน ทำให้พื้นโลกร้อนและคายความร้อนให้กับอากาศที่อยู่ใกล้ อากาศร้อนเหล่านี้จะขยายตัวและลอยขึ้นไปแทนที่อากาศข้างบนซึ่งเย็นกว่า โดยพาฝุ่นขึ้นไปด้วย

แต่ในช่วงกลางคืนของฤดูหนาว อากาศที่อยู่ใกล้ผิวโลกมักจะเย็นลงอย่างรวดเร็ว และไม่สามารถลอยขึ้นไปข้างบนได้เพราะมีชั้นอากาศที่ร้อนกว่ากั้นอยู่ ทำให้ฝุ่นยังคงหมุนเวียนในพื้นที่เดิม ไม่ได้ถูกพัดพาออกไป ปรากฏการณ์อากาศปิดแบบนี้ทำให้ฝุ่น PM2.5 มีมากในฤดูหนาว

(ตัวอย่างฝุ่นที่ถูกกักในเมือง Almaty ในประเทศคาซัคสถานจากปรากฏการณ์อุณหภูมิผกผัน ขอบคุณภาพจาก Igors Jefimovs)

แล้วเราจะป้องกันและรับมือฝุ่น PM2.5 อย่างไร

ไม่ใช่ว่าหน่วยงานรัฐจะนิ่งเฉยกับปัญหามลพิษในประเทศเสียทีเดียว Green Network รายงานว่า คุณภาพอากาศในกรุงเทพมหานครโดยเฉลี่ยแล้วดีขึ้นทุกปีแม้ว่าปริมาณรถยนต์จะเพิ่มขึ้น แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลได้ออกมาตรการที่มีประสิทธิภาพ เช่น การเปลี่ยนมาตรฐานไอเสียของรถยนต์ให้ลดปริมาณการปล่อยมลพิษลง แต่ในปีที่ผ่านมา ฝุ่น PM2.5 ก็ยังเป็นปัญหาร้ายแรงสำหรับชาวไทย ชาวไทยยังต้องซื้อหาอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อป้องกันตัวเอง และเผชิญกับความเสี่ยงด้านสุขภาพในอนาคต ทำให้มีนักเศรษฐศาสตร์ที่หประเมินความเสียหายจากฝุ่นจิ๋วเหล่านี้เป็นเม็ดเงินอย่างน้อย 1.03 ล้านล้านบาท

มีองค์กรต่างๆ นักวิชาการ และประชาชนจำนวนมากที่ออกมาเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาฝุ่นจิ๋วทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เช่น มาตรการลดการเผาอ้อย มาตรการจัดการระบบคมนาคมใหม่ สังคมก็คงจะต้องติดตามข่าวสารและเฝ้าดูท่าทีของภาครัฐและภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด รวมถึงช่วยลดฝุ่นกันคนละไม้คนละมือ เช่น งดการเผาในที่โล่งในช่วงที่อากาศปิด ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล เพื่อไม่ให้ฤดูฝุ่น PM2.5 กลายเป็นวัฏจักรที่คงอยู่ตลอดไปในประเทศไทย

(Air4Thai รายงานคุณภาพอากาศกรุงเทพฯ และปริมณฑลในวันที่ 23 กันยายน 2563 มีทั้งคุณภาพดีมากถึงเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ)

ระหว่างนั้น ชาวไทยแต่ละคนก็อย่าลืมป้องกันตัวเองเมื่อฤดูฝุ่น PM2.5 กลับมาอีกครั้ง หมั่นเช็คดูค่า PM2.5 และเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งหากค่า PM2.5 เกินมาตรฐาน ในขณะเดียวกันก็ใส่หน้ากากที่กรองฝุ่น PM2.5 ได้ เตรียมยาประจำตัวไว้กับตัว สังเกตร่างกายและอาการของตนเองเป็นประจำ และรีบพบแพทย์หากมีอาการผิดปกติ ทีมงาน CKKEQUIPMED ขอให้สุขภาพร่างกายของทุกท่านแข็งแรง และขอให้เราทุกคนรอดพ้นจากมหันตภัยฝุ่นจิ๋วนี้ในเร็ววัน

อ้างอิง

https://www.greennetworkthailand.com/ฝุ่น-pm-2-5-ความเข้าใจพื้นฐาน/

https://news.mthai.com/general-news/700924.html

https://ngthai.com/environment/18251/factofparticlematters/

http://www.pcd.go.th/info_serv/air_pm25.html

http://infofile.pcd.go.th/air/PM2.5.pdf

https://towardsdatascience.com/identifying-the-sources-of-winter-air-pollution-in-bangkok-part-ii-72539f9b767a

https://www.the101.world/how-to-deal-with-pm-25/

https://themomentum.co/air-pollution-improvement-arthur-pigou/

http://air4thai.pcd.go.th/webV2/region.php?region=0

https://pixabay.com/th/photos/%E0%B8%9B%E0%B9%88%E0%B8%B2-%E0%B9%84%E0%B8%9F%E0%B9%84%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B9%89-%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%A7%E0%B9%84%E0%B8%9F-%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%99-%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%89-1161868/

https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Smog_over_Almaty.jpg

https://www.pexels.com/photo/high-rise-buildings-at-daytime-722218/


** บทความนี้เป็นสิทธิ์ของบริษัท ซีเคเค อิควิปเมด จำกัด
สงวนสิทธิ์ทั้งบทความและภาพถ่าย ห้ามนำไปใช้ไม่ว่าจะส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั้งหมด
ห้ามคัดลอก ดัดแปลง หรือนำไปใช้ ผู้ใดฝ่าฝืนจะดำเนินดคีตามกฏหมายอย่างถึงที่สุด
วันที่เขียน 26 ตุลาคม 2563 เผยแพร่ผ่าน https://www.ckkequipmed.co.th วันที่ 26 ตุลาคม 2563

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้