ผลกระทบที่โควิด-19 อาจมีกับสุขภาพระยะยาว! ร่างกายจะเป็นอย่างไรหลังหายจากไวรัสโคโรนา

4171 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ผลกระทบที่เป็นไปได้กับสุขภาพของผู้ที่หายจากโควิด

หลังจากโควิด-19 ระบาดมาเป็นเวลาหลายเดือน ชาวไทยก็คงจะชินตากับการรายงานสถิติประจำวัน จำนวนผู้ป่วยใหม่ในวันนี้ จำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสม จำนวนผู้ป่วยที่ยังคงรักษาตัวในโรงพยาบาล จำนวนผู้ที่หายป่วยแล้ว และจำนวนผู้เสียชีวิต อย่างไรก็ตาม การแบ่งประเภทเหล่านี้อาจทำให้เราไม่ทันนึกว่า หลังหายจากการติดเชื้อโควิด-19 แล้ว อดีตผู้ป่วยบางคนก็ต้องเผชิญกับผลกระทบต่อสุขภาพทางกายในระยะยาวเช่นกัน

แม้ว่าโควิด-19 จะเป็นโรคใหม่ นักวิทยาศาสตร์จึงยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดเกี่ยวกับผลกระทบจากการติดเชื้อต่อสุขภาพในระยะยาว แต่เริ่มมีการวิเคราะห์ความเป็นไปได้โดยอาศัยข้อมูลจากโรคที่เกิดจากโคโรนาไวรัสสายพันธุ์อื่นๆ เช่น โรคซาร์สและโรคเมอร์ส มาประกอบกับข้อมูลของผู้ป่วยโควิด-19 ในปัจจุบัน ไม่ต่างจากที่โควิดทำให้ผู้ติดเชื้อแต่ละคนเกิดอาการที่หลากหลายแตกต่างกัน (รวมถึงบางครั้งก็ไม่ได้ทำให้ผู้ติดเชื้อเกิดอาการใด) ระบบร่างกายของอดีตผู้ป่วยโควิด-19 อาจฟื้นตัวเป็นปกติ หรือเกิดปัญหาระยะยาวในแบบที่แตกต่างกันไปในแต่ละคน

ปอดอาจมีแผลเป็นจากโควิด

ผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรงอาจจะมีอาการปอดบวมหรือเกิดภาวะระบบหายใจล้มเหลวเฉียบพลันซึ่งมักต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ อาการเหล่านี้อาจทิ้งบาดแผลในปอด ซึ่งทำให้ปอดมีประสิทธิภาพลดลง เช่น การวิ่งขึ้นบันไดอาจจะกลายเป็นเรื่องยากลำบาก แต่บาดแผลในปอดก็สามารถสมานได้เมื่อระยะเวลาผ่านไป

ก่อนหน้านี้ แพทย์หลายคนเกรงว่าโควิด-19 จะสร้างความเสียหายรุนแรงกับปอดยิ่งกว่าโรคซาร์สและเมอร์ส ซึ่งทิ้งแผลเป็นในปอดของของผู้ป่วยบางคนเป็นระยะเวลาหลายปี อย่างไรก็ตาม วารสาร Science รายงานว่า โควิด-19 น่าจะรุนแรงกับปอดน้อยกว่า เพราะโควิด-19 ทำลายพื้นที่ปอดน้อยกว่าและทำลายไม่บ่อยครั้งเท่าซาร์ส

เป็นไปได้ที่โควิดจะนำไปสู่ปัญหาลิ่มเลือดและหัวใจ

(ขอบคุณภาพจาก Pexels)

ผู้ป่วยอาจต้องเผชิญกับลิ่มเลือด

โควิด-19 อาจทำให้เกิดลิ่มเลือดในร่างกายของผู้ป่วยจำนวนมาก ระบบร่างกายส่วนที่ปรากฏลิ่มเลือดจึงอาจจะมีปัญหา เช่น ลิ่มเลือดในสมองทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งสามารถทำลายเซลล์สมองและทำให้ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งพิการหรือเสียชีวิต แม้ว่าผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองอายุน้อยจำนวนมากหายดี และมีโอกาสเสียชีวิตต่ำกว่าผู้ป่วยอายุมาก แต่มีการศึกษาว่า ราวครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่ไม่เผชิญปัญหาสุขภาพที่รุนแรง และไม่พิการหรือเสียชีวิตในเวลาต่อมา และผู้ป่วยบางคนก็มีลิ่มเลือดในร่างกายภายหลังหายดีจากโควิด-19

โควิด-19 อาจนำไปสู่ปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ

ในขณะเดียวกัน โควิด-19 ก็อาจสร้างความเสียหายกับหัวใจหลายแบบ เช่น ไวรัสอาจทำลายเซลล์หัวใจ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลัน หรือทำให้หัวใจล้มเหลว ความเสียหายที่หัวใจอาจมีผลกระทบในระยะยาว มีผู้ป่วยโควิด-19 ที่เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ และแม้ว่าเขาจะหายจากโควิด-19 แล้ว ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะก็ยังคงอยู่ นอกจากนี้ผู้ป่วยที่มีปัญหาระบบหัวใจมาก่อนยังอาจจะเสี่ยงหัวใจวายหรือเกิดโรคหลอดเลือดสมองยิ่งขึ้น

โควิดอาจทำให้เกิดภาวะสมองล้าและความเหนื่อยล้า

ความเหนื่อยล้าหลังจากการติดเชื้อ

โควิด-19 ยังอาจส่งผลกับร่างกายในด้านอื่นเช่นเดียวกัน มีการรายงานเกี่ยวกับภาวะสมองล้า (brain fog) เมื่ออดีตผู้ป่วยโควิด-19 บางคนประสบปัญหาในการจดจำ การจดจ่อ และการคิด แม้เมื่อสแกนสมองของผู้ป่วยเหล่านี้ แพทย์จะไม่พบความผิดปกติก็ตาม และมีผู้เสนอว่าอาการนี้คล้ายกับอาการล้าหลังติดเชื้อไวรัสที่สัมพันธ์กับการอักเสบในร่างกาย (“postviral fatigue related to inflammation in the body”)

และผู้ป่วยบางคนยังคงเหนื่อยล้า ปวดข้อ เป็นไข้ หรือคลื่นไส้แม้ว่าจะติดเชื้อมานานหลายสัปดาห์แล้ว และเรียกตัวเองว่าผู้ป่วยโควิดระยะยาว (long hauler) แต่หลายคนเริ่มมีอาการดีขึ้นเมื่อผ่านไปสี่หรือห้าเดือน แม้อาจจะไม่ใช่ทุกคน

นักวิจัยยังต้องศึกษาผลกระทบระยะยาวของโควิด-19 กันต่อไป

ดังที่กล่าวข้างต้นว่า โควิด-19 เป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกยังไม่มีข้อมูลที่เพียงพอ ข้อมูลข้างต้นนั้นเป็นเพียงข้อมูลที่มาจากงานวิจัยในปัจจุบัน ซึ่งอาจจะเปลี่ยนแปลงเมื่อเวลาผ่านไป โดยเฉพาะเมื่อมีปัจจัยจำนวนมากที่ส่งผลต่อลักษณะผลกระทบทางกายกับผู้ที่หายจากโควิด-19 เช่น ประวัติสุขภาพของผู้ป่วย โรคประจำตัวของผู้ป่วย ที่ทำให้โควิดมีผลกระทบกับผู้ป่วยแตกต่างกัน จึงต้องติดตามกันต่อไป

(ขอบคุณภาพจาก @uniqueton)

จากปัญหาสุขภาพมาสู่ปัญหาในการทำงาน

ในขณะเดียวกัน ผลกระทบต่อสุขภาพทางกายในระยะยาวยังอาจจะก่อให้เกิดปัญหาในการทำงาน หรือทำให้เกิดความเครียด เช่น พนักงานอาจมีสมรรถภาพทางกายที่ลดลง จึงไม่สามารถทำงานด้วยประสิทธิภาพในระดับก่อนหน้าติดเชื้อโควิด-19 และต้องลดระยะเวลาการทำงาน โควิด-19 ที่สามารถทำให้ร่างกายของมนุษย์เสียหายในระยะยาวยังส่งผลกับธุรกิจต่างๆ เช่น ธุรกิจจำเป็นต้องเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร โรงแรม การจัดเลี้ยง และการจัดอีเวนต์ที่มีความเสี่ยงอย่างมากที่จะทำให้เกิดการแพร่เชื้อ การบริหารงานโดยยึดหลักความปลอดภัยจะไม่เพียงจะลดความเสี่ยงการแพร่โรคระบาด แต่จะลดจำนวนอดีตผู้ป่วยโควิด-19 ที่ต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพระยะยาวอีกด้วย

(ขอบคุณภาพจาก Jérémy Stenuit)

เพราะฉะนั้น แม้ว่าโควิด-19 จะเป็นโรคที่คนส่วนใหญ่จะไม่มีอาการรุนแรง ทั้งยังหายดีในระยะเวลาไม่นาน เราก็ไม่ควรประมาทกับการป้องกันและรับมือกับเชื้อไวรัสนี้

อ้างอิง

https://www.vox.com/2020/5/8/21251899/coronavirus-long-term-effects-symptoms

https://www.abc.net.au/news/health/2020-07-31/coronavirus-long-and-medium-term-health-effects/12499436

https://www.sciencemag.org/news/2020/07/brain-fog-heart-damage-covid-19-s-lingering-problems-alarm-scientists

https://www.hopkinsmedicine.org/health/conditions-and-diseases/coronavirus/what-coronavirus-does-to-the-lungs

https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/8023350/

https://www.theatlantic.com/health/archive/2020/08/long-haulers-covid-19-recognition-support-groups-symptoms/615382/

https://www.who.int/emergencies/diseases/novel-coronavirus-2019/question-and-answers-hub/q-a-detail/q-a-coronaviruses

https://unsplash.com/photos/y-bjqTUUw2Q

https://pixabay.com/th/photos/ความโศกเศร้า-อาการเจ็บหน้าอก-เจ็บ-1846050/

https://unsplash.com/photos/3mErKfgolzM

https://unsplash.com/photos/Z9arfr0f248

** บทความนี้เป็นสิทธิ์ของบริษัท ซีเคเค อิควิปเมด จำกัด
สงวนสิทธิ์ทั้งบทความและภาพถ่าย ห้ามนำไปใช้ไม่ว่าจะส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั้งหมด
ห้ามคัดลอก ดัดแปลง หรือนำไปใช้ ผู้ใดฝ่าฝืนจะดำเนินดคีตามกฏหมายอย่างถึงที่สุด
วันที่เขียน 16 ตุลาคม 2563 เผยแพร่ผ่าน https://www.ckkequipmed.co.th วันที่ 16 ตุลาคม 2563

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้